เกี่ยวกับบลูเบอร์รี่ในจังหวัดกุนมะ
บลูเบอร์รี่ (ปลายเดือนมิถุนายน-ต้นเดือนสิงหาคม) ทา...
สายพันธุ์ออริจินัลที่เป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกุนมะเป็นที่นิยมมาก
โยโค (กลางเดือน-ปลายเดือนตุลาคม)
ผลมีขนาดใหญ่ เปลือกมีสีแดงเข้ม เนื้อแอปเปิ้ลมีสีขาวชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ ให้รสชาติเลิศล้ำมีรสหวานและเปรี้ยวสมดุล
กุนมะเมเก็ตสึ (ปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน)
เปลือกผลมีสีเหลือง จุดที่โดนแสงอาทิตย์จะมีสีแดงอ่อน เนื้อมีแกนน้ำผึ้งหวานฉ่ำ คุณสมบัติพิเศษคือรสหวานเด่น ไม่ค่อยมีรสเปรี้ยว บางครั้งก็ขายหมดเนื่องจากมีร้านค้ามาสั่งจองไปขายล่วงหน้า บ้างก็เรียกว่า “มาโบโรชิโนะริงโกะ (แอปเปิ้ลในฝัน)”
โอเซะโนะคุเรไน (ปลายเดือนสิงหาคม-ต้นเดือนกันยายน)
สายพันธุ์ที่เริ่มเก็บเกี่ยวได้ตั้งแต่ช่วงสิ้นฤดูร้อนเป็นต้นไป ผลมีขนาดใหญ่ และมีสีแดงจัด รสหวานกับรสเปรี้ยวเข้ากันกำลังดี และมีกลิ่นหอม
สลิมเรด (ปลายเดือนตุลาคม-ต้นเดือนพฤศจิกายน)
รูปทรงเหมือนกระสอบที่ไม่เหมือนใคร จึงชุ่มฉ่ำไปด้วยน้ำ สามารถกัดทานทั้งเปลือกได้ง่าย จึงเหมาะกับการทานแบบกัดรอบๆ
เบนิสึรุ (ต้นเดือน-กลางเดือนตุลาคม)
สายพันธุ์ที่เกิดในจังหวัดกุนมะเมื่อปี 2016 ความพิเศษคือสีแดงสดใสสวยงาม รสเปรี้ยวที่ให้ความรู้สึกสดชื่น และสัมผัสกรอบๆ
หากพูดถึงผลไม้อร่อยที่เป็นตัวแทนของกุนมะในช่วงฤดูใบไม้ร่วงก็คงต้องเป็นแอปเปิ้ล
แอปเปิ้ลเริ่มปลูกหลังจากเสร็จสิ้นสงครามโลกได้ไม่นาน และขยายการปลูกออกไปยังบริเวณที่ราบเชิงเขาทางตอนเหนือของจังหวัด จากนั้นสายพันธุ์ใหม่ๆ ออริจินอลของจังหวัดก็ได้เริ่มออกผลผลิตมาอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นสิ่งที่ทางจังหวัดภาคภูมิใจทั้งประวัติอันยาวนานและผลผลิต
แต่เมื่อลองมองดูทั้งประเทศญี่ปุ่นแล้ว จะเห็นว่าปริมาณการผลิตจากแหล่งปลูกขนาดใหญ่อย่างจังหวัดอาโอโมริหรือจังหวัดนากาโนะนั้นมีมากมาย จนแอปเปิ้ลของจังหวัดกุนมะไม่สามารถออกสู่ตลาดได้มากนัก การที่จะเข้าไปสัมผัสกับความอร่อยนั้น คงต้องออกไปหาตามแหล่งปลูกในจังหวัดกุนมะ ดังนั้น จึงขอแนะนำให้เข้าไปซื้อกับร้านที่ขายโดยตรงหรือสวนที่เจ้าของเปิดให้เก็บแอปเปิ้ลสดๆ จากต้นกัน
ครั้งนี้เรามาพูดคุยกับคุณโอโนะ เคซุเกะ หนึ่งในชาวสวนผู้ดำเนินกิจการสวนแอปเปิ้ลที่เขตซายามะ เมืองนูมาตะ
พื้นที่ซายามะนี้ เป็นอีกพื้นที่หนึ่งในแหล่งปลูกแอปเปิ้ลของจังหวัดที่มีชาวสวนรุ่นใหม่ไฟแรงที่พยายามทุ่มเทพละกำลังอยู่ ไม่เพียงแค่ต้องการจะเปิดเป็นร้านขายโดยตรงหรือเป็นสวนที่ให้เก็บจากต้นเท่านั้น แต่มีความคิดที่ต้องการจะส่งออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย
คุณโอโนะ ผมคิดว่าคงไม่มีผลไม้ชนิดใดที่คนญี่ปุ่นรักเท่ากับแอปเปิ้ลอีกแล้ว เพราะลูกค้าที่แวะเข้ามาซื้อแอปเปิ้ลมีตั้งแต่เด็กเล็กจนไปถึงผู้สูงอายุซึ่งเป็นแบบนี้ทุกๆ ปี และคิดว่าแอปเปิ้ลเป็นผลไม้ที่มีผู้คนมากมายชื่นชอบอย่างมาก และเสน่ห์นั้นก็ได้แพร่หลายไปยังชาวต่างชาติ จนทำให้แฟนคลับของแอปเปิ้ลญี่ปุ่นขยายวงกว้างออกไปมากขึ้นเรื่อยๆ
เขตซายามะนี้ เป็นแหล่งปลูกแอปเปิ้ลมาตั้งแต่สมัยอดีต และผมเองก็เป็นชาวสวนแอปเปิ้ลรุ่นต่อจากคุณพ่อ ผมได้เริ่มขยายพื้นที่ออกไปทีละนิด จนตอนนี้ผมปลูกแอปเปิ้ลไว้หลายสายพันธุ์ เช่น ชินาโนะเรด อากิบาเอะ ฮิเมะคามิ อาคากิ ฟูจิ ซูริมุเรด โอเซะโนะคุเรไน และ อาคากิเมเก็ตสึ ซึ่งเป็นพันธุ์ยอดนิยมที่จังหวัดกุนมะได้เพาะสายพันธุ์นี้ขึ้นมา นอกจากนี้ถึงแม้จะมีปริมาณไม่มากแต่ผมก็กำลังปลูกลูกพีช สาลี่ สาลี่ยุโรป และองุ่นอยู่ด้วย
คุณโอโนะกล่าวว่า ด้วยความที่ยังด้อยประสบการณ์จึงได้ลองผิดลองถูกหลายๆ อย่างเพื่อให้ได้แอปเปิ้ลที่อร่อย จนในที่สุดก็ได้ค้นพบวิธีการของตัวเอง
คุณโอโนะ ยังคงต้องลองผิดลองถูกกันต่อไปอีก เพราะมันเป็นแนวทางของผมหรือจะพูดว่าเป็นวิธีการทำของผมก็ได้ ที่ทำจนกว่าจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งจำเป็นสำหรับแอปเปิ้ลที่แสนอร่อยเพื่อส่งไปยังผู้บริโภค
ตอนนี้สิ่งที่คิดว่าสำคัญมากที่สุดคือปุ๋ย ผมไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแน่นอน แต่ผมจะปลูกด้วยวิธีแบบออแกนิคโดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ การให้ปุ๋ยแบบนี้นะครับ ทำให้เมื่อกัดแอปเปิ้ลแล้วจะสัมผัสได้ถึงน้ำผลไม้และความหวานและฉ่ำที่ไหลออกมา นอกจากนี้หากจะดูแลเหมือนกันทุกต้นคงเป็นไปไม่ได้เพราะแอปเปิ้ลแต่ละต้นจะมีสภาพที่ดีที่สุดแตกต่างกันเล็กน้อย ดังนั้นเราต้องแยกแยะความแตกต่างนั้นออกมาให้ได้มากที่สุด แล้วจึงเปลี่ยนแปลงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เกี่ยวกับปริมาณและช่วงเวลาของการใส่ปุ๋ยในแต่ละต้น
ถ้าอย่างนั้น คุณโอโนะที่กำลังปลูกต้นแอปเปิ้ลอยู่ประมาณพันต้นแบบนี้ ก็ต้องใช้แรงกายอย่างมากเลยสินะ
คุณโอโนะ ก็ใช่ครับ ในช่วงฤดูหนาวตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนจะเป็นงานตัดแต่งกิ่ง จากนั้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจะเริ่มงานปลิดดอกและปลิดผล พอถึงเดือนสิงหาคมช่วงหน้าร้อนจะเริ่มยุ่งกับงานตัดหญ้าในสวนแอปเปิ้ลที่ยาวเกินไป พักหลังมานี้ฤดูร้อนก็ร้อนใช่มั้ยครับ แถวนี้อุณหภูมิก็สูงด้วยเช่นกัน หญ้าจึงยาวเร็วมากเลย (หัวเราะ) ยิ่งไปกว่านั้นจะตัดหญ้ามากเกินไปก็ไม่ดี เพราะพอตัดหญ้าออกมากแล้ว จะทำให้แมลงบินออกมา แต่ถ้าปล่อยให้ยาวแบบนั้นไว้ คราวนี้พวกกวางหรือหมูป่าก็จะเข้ามาแล้วทำลายสวนได้ จึงตัดหญ้าสัปดาห์ละ 1 ครั้งเพื่อปล่อยให้หญ้ามีความยาวพอดี ช่วงเวลานี้ไม่ว่าวันที่ฝนตกหรือวันที่แดดออกและร้อนมากก็ต้องตัดหญ้าครับ
หลังจากนี้ก็รอเก็บเกี่ยว แอปเปิ้ลแต่ละสายพันธุ์จะมีช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่ไม่ตรงกัน อย่างเร็วสุดจะเก็บได้ตั้งแต่เดือนกันยายน ส่วนใหญ่แล้วแต่ละ 2 – 3 สัปดาห์จะเปลี่ยนพันธุ์ที่เก็บเกี่ยวและจนถึงเดือนธันวาคมในทุกๆ ปีจะเป็นงานเก็บเกี่ยว บรรจุ และจำหน่าย เป็นอย่างนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยเลยครับ
สายพันธุ์ไหนที่ยุ่งยากที่สุด? ทุกต้นก็ดูยุ่งยากเหมือนกันหมดเลย แต่พันธุ์ซูริมุเรดเป็นพันธุ์ที่มีดอกเยอะ จึงลำบากที่ต้องปลิดดอกเพื่อพยายามไม่ให้ต้นนั้นๆ มีผลเยอะจนเกินไป แถมใบก็เยอะด้วยอีกเช่นกัน ถ้าปล่อยไว้ใบจะไปบดบังไม่ให้แสงแดดส่องถึงผล ซึ่งจะทำให้แอปเปิ้ลไม่หวาน งานปลิดใบก็ยุ่งยากเหมือนกันครับ แบบนี้คงเรียกได้ว่าซูริมุเรดเป็นพันธุ์ที่ต้องดูแลมากเป็นอันดับหนึ่งเลย แต่เป็นแอปเปิ้ลที่แข็งกำลังดีและทนทาน หากดูแลอย่างดีแล้วจะให้รสชาติที่อร่อย ถึงแม้จะยุ่งยากไปหน่อยแต่เป็นแอปเปิ้ลที่ดีนะครับ
หากจะพูดถึงสายพันธุ์ที่ได้รับความนิยม คงเป็นสายพันธุ์ที่จังหวัดกุนมะได้ปลูกขึ้นมาอย่างกุนมะเมเก็ตสึ ผลแอปเปิ้ลทั้งลูกที่มีสีเหลืองแซมด้วยสีแดงเล็กน้อย ลักษณะการเกิดน้ำผึ้งด้านในมันสุดยอดมากเลย พอหั่นตามขวางแล้ว จะเห็นน้ำผึ้งคล้ายเป็นลายหินอ่อน เมื่อผ่าแอปเปิ้ลเพื่อให้ลูกค้าได้ลองชิมกันนั้น ลูกค้าถึงกับตกใจกับความหวานที่แสนจะพิเศษนี้ ช่วงเก็บเกี่ยวอันแสนสั้นที่เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน แถมยังมีผลผลิตปริมาณน้อย ช่วงระยะเวลาอันสั้นจึงถูกเรียกว่า “มาโบดรชิโนะริงโกะ แอปเปิ้ลมายา” หากคุณได้มาจังหวัดกุนมะในช่วงเวลานี้ก็สามารถมาหาซื้อกันได้
มาถามเกี่ยวกับเคล็ดลับการเลือกแอปเปิ้ลที่อร่อยกับคุณโอโนะผู้คลุกคลีอยู่กับแอปเปิ้ลหลายๆ พันธุ์กัน
คุณโอโนะ อย่างแรกคือสีครับ แอปเปิ้ลพันธุ์แดงต้องเป็นสีแดง ส่วนแอปเปิ้ลพันธุ์เหลืองก็ต้องเป็นออกสีเหลืองเข้มถึงจะอร่อย แบบนี้แล้วไม่มีทางพลาดแน่นอนครับ นอกจากนี้แล้วยังอยากให้ดูที่ก้นของแอปเปิ้ล เลือกผลที่ส่วนตรงนี้เป็นสีเหลืองเข้มและผลที่มีร่องรอยการบานของดอกไม้ถึงจะอร่อยครับ
ขอนำเสนอวิธีการทานอีกวิธีหนึ่ง โดยปกติแล้วเราจะปอกเปลือกแล้วผ่าในแนวตั้งกันใช่มั้ยครับ ลองตัดขวางแล้วทานเหมือนกัดบิสกิตต์ ที่จริงแล้วเปลือกของแอปเปิ้ลจะอุดมไปด้วยสารอาหาร ถ้าผ่าแบบนี้แล้วจะทานง่ายขึ้นโดยไม่ต้องปอกเปลือกเลยครับ และสามารถทานไปทั้งเปลือกจนไปถึงเนื้อส่วนใกล้กับแกนของแอปเปิ้ลซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราจะทิ้งส่วนนี้กันไป แถมยังไม่ต้องเสียเวลาปอกอีกด้วยครับ แนะนำให้ลองไปทำกันดูนะครับ
เมื่อย่างเข้าสู่ฤดูกาลแล้ว จังหวัดกุนมะที่ตามท้องถนนจะเต็มไปด้วยร้านค้าขายโดยตรงที่ตั้งอยู่เรียงราย และร้านค้าภายในจุดพักริมทาง (Michi no eki) ต่างก็ตั้งแอปเปิ้ลหลากหลายสายพันธุ์ไว้จำหน่าย สวนแอปเปิ้ลในหลายๆ ที่จะเปิดให้เพลินเพลินกับการเก็บแอปเปิ้ลจากต้น คุณโอโนะกล่าวว่าต้องไปสนุกสนานกับการเก็บแอปเปิ้ลพร้อมกับผู้คนมากมายกันให้ได้นะครับ
คุณโอโนะ แอปเปิ้ลที่ขายอยู่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตจะบรรจุขายก่อนที่จะสุก โดยเฉพาะแหล่งเพาะปลูกอยู่ไกลอย่างแอปเปิ้ลของจังหวัดอาโอโมริ (Aomori) ที่ไม่ว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถบรรจุผลที่สุกแล้วออกขายได้ ด้วยเหตุผลนี้ หากคุณมาเก็บแอปเปิ้ล คุณจะได้ลิ้มรสกับแอปเปิ้ลที่สุกคาต้นหวานอร่อยมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม
ด้วยความโชคดีที่จังหวัดกุนมะเป็นแหล่งปลูกแอปเปิ้ลที่อยู่ใกล้กับโตเกียวมากที่สุด หากคุณได้ลองมาเที่ยวในวันหยุดแล้ว คุณจะได้เป็นเจ้าของแอปเปิ้ลที่สดใหม่ได้ในทันที แล้วในระหว่าง 1 ฤดูกาลนี้จะมีแอปเปิ้ลหลากหลายสายพันธุ์ออกมาให้ได้เลือกทานกัน คงจะดีไม่น้อยที่คุณจะได้เพลิดเพลินกับการเลือกทานแอปเปิ้ลที่ถูกใจตัวเองได้ในการท่องเที่ยว
ในทางกลับกัน การที่ได้เห็นหน้าพวกผมที่เป็นชาวสวนก็มีเรื่องจะต้องกลัวด้วยเหมือนกัน เพราะไม่อยากได้ยินว่าซื้อมาจากร้านนั้นแล้วไม่อร่อย (หัวเราะ) เพื่อที่จะไม่ให้เกิดเรื่องแบบนี้ พวกชาวสวนแบบเราจึงได้ทดลองซ้ำแล้วซ้ำเล่าในทุกๆ วัน เพราะในเมื่อลูกค้าซื้อแอปเปิ้ลของสวนเราแล้ว เราก็อยากให้ซื้อไปแล้วเกิดความพึงพอใจ ดังนั้นจึงอยากปลูกผลไม้ที่ตัวเองสามารถนำเสนอได้อย่างมั่นใจ
ผมจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อของอร่อยได้ในแต่ละวัน เพื่อไม่ทำให้ลูกค้ารู้สึกเบื่อ และเพื่อให้ลูกค้าที่แวะเข้ามาเกิดความพึงพอใจ ความรู้สึกเหล่านี้แหละที่ทำให้ผมอยากปลูกแอปเปิ้ล
ชื่อฟาร์ม | สวนแอปเปิ้ลโทเกะโนะโอโนะ (Toge no ono ringoen) |
---|---|
เบอร์โทรศัพท์ | 0278-23-9358 |
ที่อยู่ | 847 Sasayama, Numata |