ผลไม้แสนอร่อยในประเทศญี่ปุ่นนั้น ตกผลึกมาจากความทุ่มเทและการใส่ใจของเกษตรกร! ไปเก็บผลไม้และทดลองตัดแต่งไม้ผลในไซตามะ
- บลูเบอร์รี
- สตรอว์เบอร์รี
ผลไม้ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักกันดีในเรื่องของคุณภาพและความอร่อย ไม่ใช่แค่ผลไม้ที่มีราคาแพงแสนแพงถึงขนาดเป็นข่าวในบางครั้ง หรือสินค้าเกรดพรีเมี่ยมตามร้านผลไม้ชื่อดังแต่เพียงเท่านั้น แต่ผลไม้ทั่วไปที่วางขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตก็อร่อยและมีรสชาติคงที่เช่นกัน
นั่นก็เป็นเพราะการปลูกผลไม้แต่ละชนิดด้วยความใส่ใจและพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้นเสมอ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นเทคนิคและการพลิกแพลงอันเป็นเอกลักษณ์ของเกษตรกรชาวญี่ปุ่น ในวันนี้คุณเอลน่า นักท่องเที่ยวชาวอินโดนีเซียได้เข้าไปทดลองเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนั้นมาค่ะ
สวนผลไม้โอริฮาระคะจู (Oriharakaju Orchards) สนุกกับการเก็บสตรอเบอร์รี่ 5 สายพันธุ์
สถานที่ที่คุณเอลน่าไปเยือนก็คือจังหวัดไซตามะที่อยู่ทางตอนเหนือติดกับโตเกียว
ที่นี่มีการเพาะปลูกไม้ผล เช่น องุ่น สาลี่ เกาลัด และอื่นๆ อย่างกว้างขวาง และยังเป็นพื้นที่ที่มีฟาร์มผลไม้เพื่อการท่องเที่ยวมากมาย เนื่องจากมีทำเลอยู่ไม่ไกลจากเมืองหลวง
“สวนผลไม้โอริฮาระคะจู” ที่อยู่ในเมืองคาสุคาเบะ ฝั่งตะวันออกของจังหวัดไซตามะก็เป็นหนึ่งในสวนผลไม้ที่มีลักษณะเช่นนั้นเช่นกัน นอกจากจะเพาะปลูกและจำหน่ายผลไม้นานาชนิดทั้งสาลี่ กีวี ลูกพลับ องุ่นพันธุ์ไชน์มัสแคทแล้ว ในช่วงเดือนมกราคมจนถึงเดือนพฤษภาคมยังสามารถเพลิดเพลินกับการเก็บสตรอเบอร์รี่ได้ด้วยค่ะ
เมื่อเข้าไปข้างในโรงเรือนเพาะปลูกที่มีพื้นที่ราว 330 ตารางวา ก็จะเจอกับต้นสตรอเบอร์รี่ที่ปลูกเรียงไว้สูงพอๆ กับส่วนสูงของคนอย่างเป็นระเบียบ
ในโรงเรือนนี้มีสตรอเบอร์รี่ปลูกไว้ทั้งหมด 5 ชนิด ได้แก่ “คาโอริโนะ (Kaorino)”, “อามะริน (Amarin)”, “เบนิฮปเปะ (Benihoppe)”, “ยทสึโบชิ (Yottsuboshi)” และ “อากิฮิเมะ (Akihime)” สามารถทานแต่ละชนิดเปรียบเทียบรสชาติกันได้เลย ในจำนวนเหล่านั้นพันธุ์ “อามะริน” เป็นแบรนด์สตรอเบอร์รี่แบรนด์ใหม่ของจังหวัดไซตามะ ซึ่งถือว่ายังเป็นสตรอว์เบอร์รี่แปลกใหม่ยังไม่ค่อยมีคนปลูกกันสักเท่าไร จึงถือเป็นโอกาสอันล้ำค่าที่จะได้ลองชิมกันค่ะ
คุณเอลน่าไม่รอช้า รีบให้พนักงานช่วยสอนวิธีเด็ดแล้วก็เริ่มเก็บสตรอเบอร์รี่เลย
เมื่อใบที่จุกโค้งงอขึ้นและเม็ดที่คล้ายงาบนสตรอเบอร์รี่เปลี่ยนเป็นสีแดงแล้วก็ถือว่าผลสุก สามารถทานได้ค่ะ
เมื่อเราจับลูกสตรอว์เบอร์รี่แล้วจะไม่ดึงออกมาตรงๆ เพียงแค่บิดข้อมือเล็กน้อยจะเด็ดผลออกมาได้อย่างง่ายดาย
สตรอเบอร์รี่ของที่นี่ปลอดภัย ปลูกโดยแทบไม่ใช้สารเคมี ไม่ต้องล้างก็เอามาทานได้ทั้งที่เด็ดออกมาจากต้นใหม่ๆ เลยค่ะ
เวลาจะทานก็เด็ดจุกที่อยู่ด้านบนสตรอเบอร์รี่ออกใส่ในถ้วยพลาสติกที่ได้รับมาตอนแรกแล้วค่อยรวมเอาไปทิ้งขยะทีเดียวในตอนจบ
ถ้าอยากทานแบบจิ้มนมข้นหวานก็สามารถนำไปเอง (ในสวนมีจำหน่ายเช่นกัน) เทนมข้นหวานลงในอีกช่องของถ้วยเดียวที่ใช้ทิ้งจุกแล้วจิ้มนมข้นหวานทานได้สบายใจ
คุณเอลน่าที่เคยร่วมกิจกรรมเก็บสตรอเบอร์รี่มาหลายครั้งแล้ว เธอพูดอย่างมีความสุขว่า “สตรอเบอร์รี่ที่นี่ไม่เหมือนที่อินโดนีเซียค่ะ มันลูกใหญ่และหวานมาก!”
ต่อจากนั้นก็เสริมด้วยใบหน้ายิ้มแย้มว่า “ไม่รู้มาก่อนเลยว่าสตรอเบอร์รี่มีหลายชนิดขนาดนี้ แถมแต่ละพันธุ์ก็มีรสชาติไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะ “อามะริน” ไม่ค่อยเปรี้ยวมากและมีรสชาติชัดเจน มันอร่อยมากๆ เลยล่ะค่ะ”
ดูเหมือนว่าจะเป็นประสบการณ์หนึ่งที่น่าสนุกและหาไม่ได้ในประเทศของตัวเองเลยทีเดียวล่ะ
อุปกรณ์ใหม่ล่าสุดกับความหลงใหลที่มีต่อการปลูกสตรอเบอร์รี่
สตรอเบอร์รี่แสนอร่อยในสวนผลไม้โอริฮาระคะจูนั้นเกิดขึ้นมาด้วยกรรมวิธีไหนกันนะ เราได้ไปพูดคุยกับคุณโอริฮาระผู้เป็นเจ้าของสวนมาค่ะ
วิธีการเพาะปลูกสตรอเบอร์รี่ของสวนโอริฮาระคะจูเรียกว่า “โยเอคิโดะโค” ซึ่งใช้ม้านั่งติดตั้งบนที่สูง ปลูกต้นสตรอเบอร์รี่บนดินในความสูงระดับประมาณหน้าอกและให้ปุ๋ยที่ละลายกับน้ำผ่านท่อ เมื่อปลูกด้วยวิธีนี้ ในด้านสุขอนามัยสตรอเบอร์รี่ก็จะเป็นโรคยากกว่า และยิ่งไปกว่านั้นยังปลูกได้รสชาติอร่อยแบบเดียวกับสตรอเบอร์รี่ที่ปลูกบนพื้นดินอีกด้วย
ในมุมหนึ่งของโรงเพาะปลูกมีเครื่องจักรต่างๆ ตั้งอยู่เรียงราย เช่น ปั๊มสำหรับใช้ในการให้ปุ๋ย อุปกรณ์หมุนเวียนอากาศ เป็นต้น
คุณโอริฮาระกล่าวว่า “อยู่มาวันหนึ่งผมก็รู้สึกตัวขึ้นว่าในการปลูกสตรอเบอร์รี่ให้อร่อยนั้นการปล่อยให้ต้นสตรอเบอร์รี่สังเคราะห์แสงสำคัญกว่าการให้ปุ๋ย” ด้วยเหตุนั้นเขาจึงนำเครื่องผลิตก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กับอุปกรณ์ที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนอากาศเข้ามาใช้
คุณโอริฮาระเอาใส่ใจกับสภาพของสตรอเบอร์รี่อย่างยิ่ง โดยการควบคุมในภาพรวมของทั้งไร่การผ่านคอมพิวเตอร์ทั้งหมด มีการตรวจสอบอุณหภูมิดินและน้ำที่ระบายออกมาอย่างละเอียด นอกจากนั้น ยังมีการเปิดไฟที่มีรังสียูวีที่ช่วยในการฆ่าเชื้อโรคทุกคืนเป็นเวลาหลายชั่วโมงซึ่งมีประโยชน์มากในการช่วยป้องกันโรค
อุปกรณ์หลายอย่าง การพลิกแพลง และที่สำคัญที่สุดความมุ่งมั่นและใส่ใจล้วนเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการสร้างผลไม้ให้อร่อย
นอกจากนั้นคุณโอริฮาระยังทำกิจกรรมพัฒนาบุคลากรผ่านการเรียนรู้จากการปลูกผลไม้อีกด้วย
“พวกเราเป็นครอบครัวใหญ่ การให้เด็กๆ ได้เห็นที่ที่พ่อแม่ทำงานเป็นเรื่องที่ดี และการให้กินผลไม้ที่ปลอดภัยและคุณภาพดีตั้งแต่เด็กๆ จะช่วยเสริมพัฒนาการด้านรสชาติของเด็กด้วย ผมอยากเผยแพร่แนวคิดนั้น ในตอนนี้จึงไม่ใช่แค่กับลูกของผม แต่ผมยังร่วมกิจกรรมด้านอาหารไปยังโรงเรียนประถมและผู้คนในท้องถิ่นด้วย”
เด็กนักเรียนประถมที่มาเยือนสวนผลไม้ของคุณโอริฮาระตอนกิจกรรมทัศนศึกษาเรียนรู้สังคม เมื่อได้ลองชิมผลไม้ก็พูดว่า “ไม่รู้มาก่อนเลยว่าสาลี่อร่อยขนาดนี้” ก่อนจะเดินทางกลับด้วยความรู้สึกประทับใจ
คุณโอริฮาระเชื่อว่าประสบการณ์เหล่านี้จะเชื่อมโยงไปถึงการเรียนรู้และการเลือกทานอาหารที่ปลอดภัยในอนาคตข้างหน้าอย่างแน่นอน
ที่สวนผลไม้โอริฮาระคะจู นอกจากแยมและน้ำผลไม้ที่ทำจากผลไม้ปลูกในไร้แล้วยังมีสินค้าแปรรูปอย่างลูกอมจำหน่ายด้วย
สาลี่ที่เป็นสินค้าหลักของสวนแม้จะไม่มีจำหน่ายเมื่อเข้าสู่ฤดูกาลเก็บสตรอเบอร์รี่ แต่ถ้าซื้อเป็นสินค้าแปรรูปแบบนี้ นอกจากเก็บไว้ได้นานแล้วถ้าเอาไปเป็นของฝากผู้รับก็ต้องดีใจแน่ๆ
สินค้าแปรรูปที่กักเก็บความอร่อยของผลไม้ญี่ปุ่นไว้ เป็นสินค้าที่อยากแนะนำให้ซื้อกลับเป็นที่ระลึกที่เราได้มาเยือนถึงสวนผลไม้กันค่ะ
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของสวนผลไม้โอริฮาระคะจูได้ที่นี่
https://japan-gastrotourism-and-trade.com/fruits/th/2019/02/26/2877/?noredirect=th_TH
ทดลองตัดแต่งต้นไม้ในฟาร์มฟูมิ (Farm FUMI) ไร่บลูเบอร์รี่
สถานที่ที่เราเดินทางไปต่อก็คือเมืองคุมากายะ ทางตอนเหนือของจังหวัดไซตามะที่ขึ้นชื่อเรื่องการปลูกบลูเบอร์รี่ค่ะ คุณเอลน่าได้ไปเยือนหนึ่งในสวนที่ปลูกบลูเบอร์รี่ที่ “ฟาร์มฟูมิ”
ภายในสวนนี้ปลูกบลูเบอร์รี่ทั้งหมด 6 สายพันธุ์ เริ่มเก็บได้ตั้งแต่ปลายเดือนมิถุนายนจนถึงต้นเดือนกันยายนค่ะ
เนื่องจากช่วงที่ไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ซึ่งยังไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยว ในไร่ของบลูเบอร์รี่จึงเต็มไปด้วยใบไม้ที่ร่วงอยู่บนพื้น
จริงๆ แล้วผลไม้นั้นแม้จะไม่ใช่ฤดูเก็บเกี่ยวก็ต้องใช้แรงคนมากเช่นกัน นั่นก็คือการตัดแต่งต้นบลูเบอร์รี่ที่เรียกว่า “การตัดเรือนยอด” ซึ่งมักจะทำในฤดูหนาว คุณเอลน่าก็ได้ทดลองทำในครั้งนี้ด้วย
แล้วการตัดเรือนยอดต้นบลูเบอร์รี่ทำขึ้นเพื่ออะไร?
เมื่อได้พูดคุยกับคุณทาคาฮาชิ เจ้าของฟาร์ม ก็ได้รับคำตอบว่า “ด้วยการรตัดเรือนยอดจะทำให้ผลบลูเบอร์รี่มีขนาดใหญ่ มีคุณภาพดี และออกผลเยอะขึ้นครับ เนื่องจากมีแสงส่องและลมผ่านได้ดีไปจนถึงด้านในต้นไม้จึงทำให้ต้นไม้แข็งแรง และยังช่วยให้กิ่งก้านกลับมาอ่อนวัยอีกครั้งด้วย”
การตัดแต่งต้นไม้ถือเป็นการทำงานที่สำคัญมากๆ สำหรับเกษตรกรเลยล่ะค่ะ
เราจะเลือกตัดกิ่งที่ยื่นขยายออกไปกว้างและกิ่งเก่าๆ ออก หน่อมากมายที่ติดอยู่ตรงกิ่งมีทั้งตาใบที่จะผลิออกมาเป็นใบไม้และตาดอกที่จะโตออกมาเป็นดอกไม้ ถ้าเราแต่งกิ่งโดยไม่คงเหลือหน่ออ่อนของดอกไม้เอาไว้ในปริมาณที่เหมาะสม อาจทำให้ผลบลูเบอร์รี่ไม่ออกก็เป็นได้
ในวันนี้คุณเอลน่าได้เห็นต้นบลูเบอร์รี่และได้ตัดกิ่งเองเป็นครั้งแรก
“ตัดกิ่งก็สนุกดีค่ะ แต่การแยกดูว่าจะตัดส่วนไหน ถ้าไม่คุ้นชินก็ค่อนข้างยากเลยล่ะค่ะ คราวหน้าอยากจะลองมาเก็บผลบลูเบอร์รี่ในฤดูร้อนดูบ้าง และวิวรอบๆ สวนบลูเบอร์รี่ที่กว้างใหญ่มากกับ ท้องฟ้าแจ่มใสทำให้รู้สึกสดชื่นมากๆ เลยค่ะ”
ฟาร์มฟูมิปลูกผลไม้ทั้งหมดโดยไม่ได้ใช้สารเคมีใดๆ วัชพืชที่งอกขึ้นมาใช้วิธีกำจัดด้วยมือ ให้ปุ๋ยอินทรีย์ และมีการปูเศษไม้เพื่อป้องกันการดินแห้ง ดังนั้นการดูแลจัดการไร่ที่มีขนาดใหญ่มาก จึงใช้แรงงานและเวลาเป็นอย่างมากเช่นเดียวกัน
บลูเบอร์รี่แต่ละชนิดไม่เหมือนกัน บางทีก็มีบลูเบอร์รี่ที่มีขนาดผลใหญ่กว่าเหรียญ 500 เยนด้วย (ประมาณ 2.6 เซนติเมตร) ไร่บลูเบอร์รี่ที่เจริญงอกงามกับสีของท้องฟ้าสดใสในฤดูร้อนคงจะทำให้ผู้มาเยือนรู้สึกสดชื่นน่าดูเลยทีเดียว เนื่องจากที่นี่ไม่ใช้ยากำจัดศัตรูพืช จึงพาเด็กๆ ไปเที่ยวสนุกได้อย่างไม่ต้องกังวลค่ะ
คู่สามีภรรยาทาคาฮาชิเจ้าของสวนทำงานเป็นข้าราชการจนถึงวัยเกษียณ ต่อจากนั้นก็มารับช่วงต่อสวนผลไม้จากคุณปู่เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ด้วยแนวความคิดที่อยากอุทิศตัวต่อสังคมในฐานะเกษตรกร จึงได้จัดการเก็บบลูเบอร์รี่และเกาลัดด้วยราคาย่อมเยา และยังทำกิจกรรมช่วยเหลือเยาวชนผู้กระทำผิดให้กลับสู่สังคมได้ด้วย
“มีพวกครอบครัวไก่ฟ้าและกระต่ายป่าเข้ามาในสวนบ้าง เราอยากให้คนที่มาถึงที่นี่เพลิดเพลินกับอากาศดีๆ และทิวทัศน์แบบภูเขาบ้านเกิดที่มีมาตั้งแต่สมัยก่อน”
ของฝากมีแยมกีวีแบบออริจินัลของฟาร์ม และบลูเบอร์รี่ชีสสเปรด (ราคา 650 เยน ยังไม่รวมภาษี) เราจะได้เพลิดเพลินกับรสชาติของผลไม้ที่แสนเข้มข้นซึ่งทำจากน้ำตาลออแกนิกและชีสที่ผลิตในญี่ปุ่นเองค่ะ สินค้าแปรรูปของฟาร์มฟูมินี้ปลอดสารปรุงแต่ง อร่อยแล้วยังอ่อนโยนต่อร่างกายด้วย
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมของฟาร์มฟูมิได้ที่นี่
https://japan-gastrotourism-and-trade.com/fruits/th/2019/02/26/2876/?noredirect=th_TH
จากการที่ได้ฟังเรื่องราวของแต่ละสวนและการได้ทดลองลงมือจริงในครั้งนี้ ทำให้ได้รู้ว่าในการปลูกผลไม้ต้องใช้ความพยายามและการทุ่มเทใส่ใจมากๆ เลยล่ะค่ะ
สำหรับทางเกษตรกรเองก็มีความคิดหลากหลายเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกว่าอยากจะสร้างสรรค์ผลไม้แบบไหนออกมา หรือหลังจากนี้ทำอะไรโดยผ่านผลไม้เหล่านี้
ผลไม้ที่แสนอร่อยย่อมต้องอาศัยความทุ่มเทและใส่ใจจากผู้ปลูก ตอนไปเก็บผลไม้ที่ญี่ปุ่นครั้งหน้าอยากให้ทุกคนลองให้ความสนใจกับการปลูกผลไม้ดูนะคะว่ากว่าจะทำออกมาได้อร่อยขนาดนี้ต้องอาศัยความรักและความพยายามขนาดไหน รับรองว่าจะทำให้ลิ้มรสผลไม้ได้ลึกซึ้งขึ้นอย่างแน่นอน!